ไข้หวัดใหญ่ อาการเป็นยังไงบ้าง ดูแลตัวเองอย่างไรถ้าไม่อยากไปโรงพยาบาล
คุณกำลังเป็นไข้หวัดใหญ่หรือเปล่า ตรวจเช็กได้จากอาการต่อไปนี้ พร้อมวิธีการรักษาแบบไม่ต้องไปรพ.
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าโรค “ไข้หวัดใหญ่” มักจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝนเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา เพราะโรคนี้เกิดจากแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วขยี้ตา หรือหยิบจับอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน หรือร่างกายอ่อนแอมากๆ ก็มีโอกาสจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการภายใน 1-3 วัน โดยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- มีไข้สูงตั้งแต่ 38-40 องศา
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ บางรายอาจพบอาการปวดเมื่อยทั้งตัว
- อ่อนเพลียมาก หมดแรงแบบฉับพลัน
- รู้สึกเบื่ออาหาร และคลื่นไส้
- เจ็บคอ ร่วมกับมีอาการไอแห้ง
- คัดจมูก อาจพบน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาร่วมด้วย
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการดังกล่าวประมาณ 2-4 วันแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
จะรู้ได้ยังไง ว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเปล่า?
โดยปกติแล้ว ภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว อาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง กินยาแก้ปวดไม่หาย และค่อยๆ ซึมไปเรื่อยๆ อาจเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- เจ็บหน้าอกมาก เหนื่อยง่าย มีอาการหอบร่วมด้วย อาจเกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้หัวใจวายได้
- แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย อาจเกิดจากอาการปอดอักเสบ ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบ
ดูแลตัวเองยังไง เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ?
การดูแลรักษาตัวเอง หรือผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถรักษาตามอาการได้เลย เช่น กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ควบคู่ไปกับเช็ดตัว หากมีอาการน้ำมูกไหลและไอ สามารถกินยาแก้แพ้และยาละลายเสมหะได้ และควรพักผ่อนเยอะๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ
แต่ถ้าหากเกิน 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ หายใจไม่ปกติ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ