อย่างที่รู้กันดีว่า หนึ่งในโรคยอดอิตของวัยทำงานที่เจอกันบ่อยๆ คือโรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีไขมันสูง กินอาหารรสจัดและกินเยอะกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก บางรายอาจพบอาการเรอเปรี้ยว ท้องอืดจุกเสียดเรื้อรังอีกด้วย
อาการของกรดไหลย้อน
เช็กอาการให้ชัวร์ คุณกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือเปล่า?
นอกจากอาการแสบร้อนกลางอกแล้ว ยังมีอีกหลายอาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- เรอเปรี้ยว หรือบางครั้งเรอแล้วรู้สึกถึงรสขมในปากและในลำคอ
- ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้องอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกคลื่่นไส้ และบางครั้งถึงขั้นอาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เจ็บหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก โดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ
- มีอาการหืบหอบ เวลาพูดเสียงจะแหบกว่าปกติ
- รู้สึกกลืนอาหารยาก เหมือนมีก้อนอะไรขัดอยู่ที่ลำคอ บางครั้งต้องกระแอมคอถึงจะโล่ง
- มีอาการเจ็บคอ และไอแห้งแบบเรื้อรังโดยที่ไม่พบสาเหตุ
ยาแก้กรดไหลย้อน
หลังจากเช็กอาการ ถ้ามั่นใจแล้วว่าคุณเป็นโรคกรดไหลย้อนแน่นอน สามารถใช้ยาต่อไปนี้เพื่อรักษาให้อาการดีขึ้นได้
- อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ยาประเภทนี้เรียกอีกอย่างได้ว่า “ยาลดกรด” สามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว และช่วยลดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก หรืออาการจุกเสียดได้ทันทีหลังรับประทาน แต่ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้ไม่นาน และหากกินต่อเนื่องนานเกินไปอาจมีผลต่อระบบขับถ่ายได้ ตัวอย่างของยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ได้แก่ มาล็อกซ์ (Maalox), แอนตาเซีย (Antacia) ส่วนตัวอย่างของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ได้แก่ อัลมา (Alma) แมกนีเซีย (Magnesia)
- โซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นยาที่เหมาะสำหรับใช้รักษาโรคกรดเกิน หรือกรดไหลย้อน เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว แต่ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้ไม่นาน และยังดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ง่ายกว่ายาลดกรด หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้ปัสสาวะและเลือดมีความเป็นด่างสูง ตัวอย่างของยาชนิดนี้ ได้แก่ กราวิสคอน (Graviscon)
- ไซเมติโคน เป็นยาที่เหมาะสำหรับรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่เกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะเกินไป (แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแก๊สขึ้น) ยาออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์ไม่นานเช่นกัน ตัวอย่างของยาชนิดนี้ ได้แก่ แอร์-เอ็กซ์ (Air-X), แอนตาซิล (Antacil), เบอร์โคลมีน (Berclomine)
หากใช้ยาต่อไปนี้ในการรักษาและบรรเทาอาการแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป
การปฏิบัติตัวลดกรดไหลย้อน
ไม่ใช่แค่การรับประทานยาอย่างเดียวที่จะช่วยรักษาและป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างก็ช่วยได้เช่นกัน เช่น
- เลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะเปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด รวมถึงเลี่ยงอาหารหมักดอง
- เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในมื้อเดียว ควรแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งแทน
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวได้ช้าลง
- เลี่ยงการรับประทานอาหารแล้วนอนทันที ควรรอให้อาหารย่อยก่อนอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง
- เลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงการเกิดความเครียดสะสม