โรคกรดไหลย้อน มีอาการยังไงบ้าง คุณกำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า?
รู้จักกับสาเหตุและอาการของโรคกรดไหลย้อน หนึ่งในโรคยอดฮิตของวัยทำงานที่คุณอาจเป็นอยู่!
โรคกรดไหลย้อน ถือเป็นโรคยอดฮิตของมนุษย์วัยทำงาน เพราะมักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่แตกต่างไปจากวัยอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ มีความเครียดสูง รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลมเป็นประจำ เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีมากนัก และอาจพบอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความรำคาญจนมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้
จะรู้ได้ยังไง ว่าคุณกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อนอยู่หรือไม่?
โรคกรดไหลย้อน มักจะเกิดจากการที่สารคัดหลั่งหรือน้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับขึ้นไปบริเวณหลอดอาหาร หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้หลอดอาหารอักเสบได้
อาการที่เห็นได้ชัดของโรคกรดไหลย้อน มีดังต่อไปนี้
- แสบร้อนบริเวณตรงกลางของหน้าอก และบริเวณลิ้นปี่ มักจะเป็นบ่อยๆ หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ๆ
- รู้สึกถึงรสขม หรือรู้สึกรสเปรี้ยวในช่องปากและลำคอ
- มีอาการจุกเสียด แน่นท้องบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่บ่อยๆ
- มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจได้ไม่ทั่วโดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ
- มีอาการไอเรื้อรัง โดยไม่ได้มีความผิดปกติที่ปอด และไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน
- เสียงแหบกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการหืดหอบ เกิดขึ้นได้จากภาวะกล่องเสียงอักเสบ
- กลืนอาหารยากกว่าปกติ รู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรแข็งๆ จุกอยู่ที่คอตลอดเวลา
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เกิดจากอะไรได้บ้าง?
มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัวหลายๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่
- หูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารผิดปกติ ในกรณีที่สูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เครื่องดื่มที่ผสมแก๊ส รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางชนิด มีผลทำให้หูรูดในส่วนนี้ต่ำหรือเปิดง่ายกว่าคนปกติ
- หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ จนทำให้อาการที่รับประทานเข้าไปเคลื่อนไปสู่กระเพาะช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือบางครั้งทำให้อาหารไหลย้อนขึ้นมาค้างอยู่บริเวณหลอดอาหารจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
- กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ กรณีนี้จะทำให้อาการตกค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าที่ควรจะเป็น ยิ่งถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ก็ยิ่งทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการไหลย้อนของกรดที่ใช้ย่อยอาหารกลับไปยังหลอดอาหารอีกครั้ง
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารแล้วเข้านอนทันที การรับประทานอาหารที่มากเกินไปในหนึ่งมื้อ การดื่มเครื่องดื่มแอลกออล์ ความเครียดสะสมที่ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงการเป็นโรคอ้วน
- ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนบางตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้หูรูดอาหารทำงานช้าลง บางรายอาจพบว่ามดลูกมีการขยายตัวจนไปกดกระเพาะอาหารด้วย
ป้องกันการเกิดโรคไหลย้อน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
สำหรับใครที่มีอาการเบื้องต้น หรือสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน สามารถป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ลดหรือเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้กระเพาะต้องหลั่งกรดเพิ่มขึ้น เช่น อาหารรสจัด โดยเฉพาะเปรี้ยวจัดและเผ็ดจัด เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- ลดปริมาณอาหารในแต่ละวัน ถ้าหากรู้สึกหิวบ่อยแนะนำให้แบ่งเป็นมื้อเล็กๆ 3-5 มื้อแทน
- ลดการเกิดความเครียด ด้วยการพักผ่อนในวิธีต่างๆ เช่น นอนหลับ หาเวลาไปเดินเที่ยวในสถานที่ต่างๆ หรือออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนควรดูแลตัวเองด้วยการลดน้ำหนัก ลดปริมาณอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักเกินไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแล้วนอนทันที อย่างน้อยที่สุดควรรอ 2-4 ชั่วโมง ถ้าหากต้องการนอนจริงๆ ควรเอนตัวแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน หรือนอนหมอนทรงสูงประมาณ 4-6 นิ้วขึ้นไป